เครื่องกำเนิดไฟฟ้ากระแสสลับ
(Synchronous Generator )
ระบบไฟฟ้าที่ใช้งานอยู่ในปัจจุบันได้มาจากโรงต้นกำลัง
(Power plant)
ซึ่งเป็นแหล่งผลิตพลังงานไฟฟ้าอยู่ในความรับผิดชอบของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ทำหน้าที่ในการจ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าภูมิภาค
และการไฟฟ้านครหลวง
เพื่อจำหน่ายให้กับบ้านพักอาศัย สำนักงาน
หน่วยงานต่างๆ และโรงงานอุตสาหกรรม
โรงต้นกำลังที่ผลิตพลังงานไฟฟ้านั้น มีทั้งโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อน โรงไฟฟ้าพลังน้ำ โรงไฟฟ้ากังหันก๊าซ โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม
โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และยังรวมถึงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนอีกด้วย โดยภายในโรงงานไฟฟ้าแต่ละชนิดจะมีเครื่องจักรที่สำคัญทำหน้าที่ผลิตพลังงานไฟฟ้าส่งออกไปใช้งาน เรียกว่า
เครื่องกำเนิดไฟฟ้า (Generator)
รูปที่
1 โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อน
เครื่องกำเนิดไฟฟ้าเป็นเครื่องกลที่ทำหน้าที่เปลี่ยนพลังงานกลเป็นพลังงานไฟฟ้า โดยอาศัยการเหนี่ยวนำของแม่เหล็กตามหลักการของ ไมเคิล ฟาราเดย์ โดยการหมุนตัดกันระหว่างขดลวดตัวนำกับสนามแม่เหล็ก พิกัดกำลังของเครื่องกำเนิดไฟฟ้าจะบอกเป็นโวลต์-แอมป์ (VA) หรือกิโลโวลต์-แอมป์ (KVA) ซึ่งเป็นกำลังไฟฟ้าปรากฏ (Apparent Power) ที่เครื่องจ่ายออกมา และสามารถแบ่งชนิดของเครื่องกำเนิดไฟฟ้าแต่ละประเภท ได้ดังนี้
1. ชนิดของเครื่องกำเนิดไฟฟ้า
การออกแบบสร้างเครื่องกำเนิดไฟฟ้าตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
ได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เครื่องกำเนิดทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
มีความเหมาะสมกับตัวต้นกำลังแต่ละชนิด เช่นเครื่องกังหันแบบต่างๆ มีขนาดกะทัดรัด
ง่ายต่อการควบคุมและสะดวกต่อการบำรุงรักษานั่นเอง ซึ่งแบ่งได้ดังนี้
1.1
แบ่งตามจำนวนเฟสของระบบไฟฟ้า
1.1.1 เครื่องกำเนิดไฟฟ้าชนิด 1 เฟส (Single
Phase Generator) ให้แรงดันไฟฟ้าระบบ 1 เฟส 2 สาย (L,N) 220 โวลต์ 50 เฮิรตซ์
ส่วนใหญ่จะเป็นเครื่องกำเนิดขนาดเล็กให้กำลังไม่เกิน 5 KVA หรือ 5 KW ใช้เครื่องยนต์ขนาดเล็กเป็นตัวต้นกำลัง
ส่งกำลังโดยการต่อเพลาเข้าโดยตรงหรือใช้สายพานส่งกำลัง ส่วนใหญ่จะนำไปใช้งานผลิตไฟฟ้าชั่วคราว ใช้เป็นไฟฉุกเฉิน
หรืองานเฉพาะกิจที่ไม่สามารถใช้ไฟของการไฟฟ้าได้
รูปที่
2 เครื่องกำเนิดไฟฟ้า 1 เฟส
1.1.2 เครื่องกำเนิดไฟฟ้าชนิด 3
เฟส (Three Phase Generator) ให้แรงดันไฟฟ้าระบบ 3
เฟส 220/380 โวลต์ 50 เฮิรตซ์ หรือให้แรงดันไฟฟ้าสูงสุดได้ไม่เกิน 20
กิโลโวลต์ มีขนาดตั้งแต่ 5 KVA ขึ้นไป ที่ขดลวดสเตเตอร์ของเครื่องกำเนิดชนิดนี้ มีขดลวด 3 ชุด แต่ละชุดวางมุมห่างกัน
120 องศาทางไฟฟ้า
รูปที่
3 เครื่องกำเนิดไฟฟ้า 3 เฟส
1.2 แบ่งตามลักษณะของขดลวดสนามแม่เหล็กที่กระทำกับขดลวดสเตเตอร์
1.2.1 เครื่องกำเนิดชนิดขดลวดสนามแม่เหล็กอยู่กับที่ มีขดลวดสนามแม่เหล็กติดอยู่กับที่ที่โครงสเตเตอร์
เพื่อสร้างเส้นแรงแม่เหล็กให้วิ่งจากขั้วเหนือ (N)
ไปยังขั้วใต้ (S) ส่วนขดลวดอาร์เมเจอร์ที่เป็นตัวหมุนจะเป็นตัวจ่ายไฟออกไปใชงานผ่านทาง
สลิปริง และแปรงถ่าน ส่วนมากจะเป็นเครื่องกำเนิดขนาดเล็ก
1.2.2 เครื่องกำเนิดชนิดขดลวดสนามแม่เหล็กหมุน มีขดลวดสนามแม่เหล็กที่สร้างขั้วเหนือ
และใต้ เป็นตัวหมุน ส่วนขดลวดอาร์เมเจอร์ที่ผลิตไฟฟ้าออกไปใช้งานจะพันอยู่บนแกนเหล็กของโครง
สเตเตอร์โดยไม่ต้องมีแปรงถ่านและสลิปริงสามารถรับพิกัดกระแสได้มากกว่าแบบแรก
ส่วนมากจะเป็นเครื่องกำเนิด ขนาดกลาง และใหญ่
1.3 แบ่งตามลักษณะการติดตั้ง
1.3.1
เครื่องกำเนิดไฟฟ้าชนิดเพลานอน หรือ แนวราบ ถ้าสังเกตที่เพลาโรเตอร์ของเครื่องกำเนิดชนิดนี้จะติดตั้งหรือวางในแนวราบ มีการต่อเพลาโดยตรงเข้ากับตัวต้นกำลังที่เป็นเครื่องยนต์
หรือเครื่องกังหันแบบต่างๆ มีทั้งขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่
เป็นที่นิยมใช้งานกันทั่วไป
1.3.2
เครื่องกำเนิดไฟฟ้าชนิดเพลาตั้ง
การติดตั้งจะวางเพลาโรเตอร์ของเครื่องกำเนิดอยู่ในแนวตั้งขึ้น เช่น
เครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่ใช้กับเขื่อนต่างๆ
โดยมีกังหันน้ำต่อเพลาเข้ากับโรเตอร์ของเครื่องกำเนิดในแนวตั้งให้ความเร็วรอบของการหมุนต่ำ
1.4 แบ่งตามพิกัดกำลังใช้งาน
1.4.1 เครื่องกำเนิดไฟฟ้าขนาดเล็ก ส่วนมากจะเป็นเครื่องกำเนิดชนิด
1 เฟส ให้แรงดันไฟฟ้า 220 โวลต์
มีขนาดไม่เกิน 5 KVA มีจำหน่ายตามท้องตลาดทั่วไป
ใช้ผลิตไฟฟ้าชั่วคราว ใช้เป็นไฟฉุกเฉิน
และใช้กับงานเฉพาะกิจ
1.4.2 เครื่องกำเนิดไฟฟ้าขนาดกลาง เป็นเครื่องกำเนิดที่จ่ายระบบไฟ
3 เฟส ให้แรงดันไฟฟ้า 220
/380โวลต์ มีขนาดตั้งแต่ 5 KVA ถึง 500 KVA ใช้เป็นเครื่องสำรองไฟให้กับโรงพยาบาล โรงแรม
ศูนย์การค้า ธนาคาร และโรงงานอุตสาหกรรม ในกรณีที่ระบบไฟฟ้าของการไฟฟ้าไม่สามารถจ่ายไฟได้ อาจจะให้เครื่องกำเนิดเริ่มเดินด้วยมือ(Manual) หรือให้เริ่มเดินแบบอัตโนมัติ แบบใช้ทรานส์เฟอร์สวิตช์ (Transfer
switch) ทำหน้าที่ถ่ายโอนระบบไฟฟ้าของเครื่องสำรองไฟและระบบจำหน่ายของการไฟฟ้าเข้ากับโหลด
1.4.3 เครื่องกำเนิดไฟฟ้าขนาดใหญ่ มีขนาดตั้งแต่ 500 KVA เป็นต้นไป
ส่วนมากจะใช้เป็นกำลังหลักในการผลิตไฟฟ้าของโรงต้นกำลัง เช่น
โรงงานไฟฟ้าพลังงานความร้อน
พลังน้ำ กังหันแก๊ส และโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม โดยจ่ายแรงดันไฟฟ้าได้ประมาณ 20 KV เข้าสู่ระบบสายส่งแรงสูงของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
หรือใช้ในการผลิตไฟฟ้าเพื่อเชื่อมต่อให้กับระบบจำหน่าย 22 KV ของการไฟฟ้าภูมิภาคโดยตรง
1.5 แบ่งตามพลังกลที่ใช้ขับเครื่องกำเนิด
1.5.1
เครื่องกำเนิดไฟฟ้าชนิดใช้กังหันไอน้ำเป็นตัวต้นกำลัง โดยการนำเอาไอน้ำที่มีความดันสูงและอุณหภูมิสูง (Supper heat) จากหม้อไอน้ำ (Boiler) ไหลผ่านวาล์วของระบบควบคุม
และเมื่อไอน้ำไหลเข้าไปในกังหันไอน้ำ (Stream Turbine)
ที่มีลักษณะเป็นซี่ๆ ทั้งชุดความดันต่ำและชุดความดันสูง ความดันของไอน้ำจะลดลงและเกิดการขยายตัวทำให้ปริมาตรของไอน้ำเพิ่มขึ้น
มีผลทำให้ความเร็วในการไหลของไอน้ำสูงขึ้นและเมื่อไปปะทะกับใบพัดจำนวนหลายชุดที่ติดอยู่ที่เพลา
ก็จะผลักให้เพลาของกังหันหมุนก่อให้เกิดกำลังกลและไปหมุนขับเครื่องกำเนิดไฟฟ้าผลิตไฟออกมา
รูปที่
4 กังหันไอน้ำผลิตไฟฟ้า
1.5.2
เครื่องกำเนิดไฟฟ้าชนิดใช้กังหันน้ำเป็นตัวต้นกำลัง
กังหันชนิดนี้จะมีใช้งานกับเขื่อนต่างๆ เช่น เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิตติ์ เขื่อนวชิรลงกรณ์ เขื่อนอุบลรัตน์ ฯลฯ มีทั้งแบบ คาปลาน (kaplan),
ฟรานซิส (Francis), เทอบูล่าร์ (Tubular),
เตอร์โก (Turgo) และ เพลตอน (Pelton) การทำงานอาศัยพลังงานจลน์ของแรงดันน้ำที่เกิดจากความต่างระดับของน้ำเหนือเขื่อน
และท้ายเขื่อน ฉีดไปที่ใบพัดของกังหันน้ำ ทำให้เกิดการหมุนในแนวแกน
เพื่อขับเคลื่อนเครื่องกำเนิดผลิตไฟฟ้า ซึ่งให้ความเร็วรอบของการหมุนต่ำ
รูปที่
5 กังหันน้ำผลิตไฟฟ้า
1.5.3 เครื่องกำเนิดไฟฟ้าชนิดใช้กังหันก๊าซเป็นตัวต้นกำลัง การทำงานของเครื่องกังหันก๊าซ
โดยมีเครื่องอัดอากาศ(Compressor)ต่ออยู่บนเพลาเดียวกับชุดกังหันและต่อตรงไปยังเครื่องกำเนิดไฟฟ้า
เมื่อเริ่มเดินเครื่องอากาศจะถูกดูดจากภายนอกเข้าหาเครื่องอัดอากาศทางด้านล่าง ถูกอัดจนมีความดันและอุณหภูมิสูงประมาณ
8-10 เท่า แล้วถูกส่งไปยังห้องเผาไหม้
ซึ่งใช้เชื้อเพลิงเป็นก๊าซธรรมชาติ(หรือน้ำมันดีเซล)จะถูกเผาไหม้และให้ความร้อนแก่อากาศ
ก๊าซร้อนที่ออกจากห้องเผาไหม้จะถูกส่งไปยังกังหัน ทำให้กังหันหมุนเกิดงานขึ้น
ไปขับเครื่องอัดอากาศและขณะเดียวกันก็ขับเครื่องกำเนิดไฟฟ้าด้วย ความดันของก๊าซเมื่อผ่านตัวกังหันจะลดลงและผ่านออกมาที่บรรยากาศ
รูปที่
6 กังหันก๊าซผลิตไฟฟ้า
1.5.4
เครื่องกำเนิดไฟฟ้าชนิดใช้กังหันลมเป็นตัวต้นกำลัง กังหันลมที่ใช้ผลิตไฟฟ้าเป็นพลังงานทดแทนรูปแบบหนึ่ง ซึ่งลมเป็นแหล่งพลังงานที่สะอาด
สามารถใช้ได้อย่างไม่มีวันหมด
หลักการทำงานเมื่อมีลมพัดมาปะทะกับใบพัดของกังหันลม
กังหันลมจะทำหน้าที่เปลี่ยนพลังงานลมที่อยู่ในรูปของพลังงานจลน์ไปเป็นพลังงานกล
โดยการหมุนของใบพัด
แรงจากการหมุนของใบพัดนี้ จะถูกส่งผ่านแกนหมุนทำให้เพลาที่ติดอยู่กับแกนหมุนของเครื่องกำเนิดเพื่อผลิตไฟฟ้า
ซึ่งกังหันลมที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้ามี
2 แบบ คือ แบบแกนเพลาแนวนอน และแบบแกนเพลาแนวตั้ง
รูปที่
7
กังหันลมผลิตไฟฟ้า
1.6 แบ่งตามลักษณะการนำไปใช้งาน
1.6.1
เครื่องกำเนิดไฟฟ้าชนิดสำรอง (Standby
Generator Type)
เครื่องกำเนิดชนิดนี้จะใช้เป็นกำลังสำรองเมื่อไฟฟ้าหลักดับไป
เป็นเวลาไม่นานนัก
ซึ่งมีไว้สำหรับใช้เมื่อมีความจำเป็นหรือกรณีฉุกเฉิน
ความสำคัญของเครื่องกำเนิดจึงอยู่ที่ความพร้อมใช้งานเป็นหลัก ใช้สำหรับอาคารสูง
โรงงานอุตสาหกรรมที่ต้องการผลผลิตอย่างต่อเนื่อง
เครื่องกำเนิดชนิดนี้จะต้องตอบสนองความต้องการได้อย่างรวดเร็ว มีความเที่ยงตรงแม่นยำ
และออกแบบให้ใช้งานเต็มกำลังของเครื่องยนต์เพื่อใช้ขับเคลื่อนเครื่องกำเนิด
และเครื่องกำเนิดชนิดนี้จะไม่สามารถจ่ายโหลดเกินกำลังได้
ชั่วโมงการทำงานจะต้องไม่เกินพิกัดของผู้ผลิตเครื่องยนต์ เช่นกำหนดไว้ไม่เกิน 150 หรือ 200 ชั่วโมงต่อปี
และการเดินเครื่องแต่ละครั้งจะต้องอยู่ในข้อกำหนดของผู้ผลิตด้วย เช่น
ในรอบเดินเครื่อง 12 ชั่วโมง ต้องหยุด
1 ชั่วโมง เป็นต้น
1.6.2
เครื่องกำเนิดไฟฟ้าชนิดสำรองต่อเนื่อง
(Continuous Generator Type)
ใช้เป็นกำลังสำรองแต่สามารถใช้งานได้อย่างต่อเนื่องเมื่อไฟฟ้าหลักดับ เช่น กรณีที่ไฟฟ้าหลักดับนานเกิน 12 ชั่วโมง ใช้กับโหลดที่มีกระแสเริ่มเดินสูง
เครื่องกำเนิดชนิดนี้จะมีขีดความสามารถสูงกว่าแบบแรกและราคา แพงกว่า
เนื่องจากการออกแบบจะต้องเลือกเครื่องยนต์ที่มีกำลังหรือแรงม้าที่มากพอ
และสามารถรับโหลดเกินกำลังได้ 10 % ตามมาตรฐาน
IEC และมาตรฐานอื่นๆ
การทำงานจะเป็นลักษณะกึ่งใช้งานหนัก
และจะต้องพิจารณาถึงความคงทนของฉนวนและอุณหภูมิการใช้งานของเครื่องกำเนิดไฟฟ้าด้วย
1.6.3 เครื่องกำเนิดไฟฟ้าชนิดจ่ายกำลังหลัก (Base
load Generator) เป็นเครื่องที่ใช้งานจ่ายกำลังไฟฟ้าหลัก
สามารถใช้อย่างต่อเนื่องโดยไม่จำกัดชั่วโมงการทำงาน
พิกัดของเครื่องจะต้องรับโหลดเป็น 70 % ของเครื่องชนิดสำรอง และ 60 % ของเครื่องชนิดสำรองต่อเนื่อง เครื่องชนิดนี้มักจะใช้ในเกาะ
หรือสถานที่ใช้ไฟฟ้าชั่วคราว เช่น แท่นขดเจาะน้ำมัน แคมป์งานก่อสร้าง ฯลฯ
บางครั้งจะต้องติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าพร้อมกัน 2 เครื่อง
แล้วสลับกันทำงาน เพื่อให้มีความสะดวกต่อการบำรุงรักษาตามช่วงเวลาที่กำหนด
1.7 แบ่งตามลักษณะการออกแบบ
1.7.1
เครื่องกำเนิดไฟฟ้าชนิดเปลือยติดตั้งอยู่กับที่ (Bare Generator) เป็นชนิดที่นิยมใช้งานกันโดยทั่วไป
เครื่องยนต์ที่เป็นต้นกำลังและเครื่องกำเนิดจะเป็นชนิดเปลือย
มีชุดควบคุมติดตั้งอยู่ด้านท้ายของเครื่องกำเนิด มีขนาดใหญ่และน้ำหนักมากจึงไม่นิยมเคลื่อนย้าย
1.7.2
เครื่องกำเนิดไฟฟ้าชนิดตู้ครอบเก็บเสียง
(Canopied and Sound Proof)
เป็นชนิดที่ต้องการย้ายพื้นที่การใช้งานบ่อยๆ
หรือต้องการเก็บเสียงหรือพื้นที่ที่ไม่มีห้องสำหรับติดตั้งเครื่องกำเนิด
ส่วนประกอบที่สำคัญทั้งหมดจะถูกออกแบบให้อยู่ในตู้ครอบ เช่น
ถังน้ำมันเชื้อเพลิง
ชุดควบคุมสตาร์ตอัตโนมัติ และสวิตช์ถ่ายโอนกระแสไฟฟ้า
1.7.3 เครื่องกำเนิดไฟฟ้าชนิดเคลื่อนย้าย (Mobile Generator Trailer)
เครื่องกำเนิดชนิดนี้ใช้ในสถานที่ชั่วคราว
เช่น งานพิธีการต่างๆ
งานกู้ภัย งานเฉพาะกิจภาคสนาม สามารถเคลื่อนย้ายนำไปใช้งานในสถานที่ต่างๆ
ได้ มีทั้งชนิดลากจูง (Trailer) และแบบบรรทุกบนรถยนต์ (Mobile Generator)
2. โครงสร้างและส่วนประกอบของเครื่องกำเนิดไฟฟ้า
ซึ่งในที่นี้จะพิจารณาเฉพาะเครื่องกำเนิดไฟฟ้าชนิดขดลวดสนามแม่เหล็กหมุน ซึ่งประกอบด้วยส่วนที่อยู่กับที่ (Stator) ส่วนที่หมุน (Rotor) ขดลวดแดมเปอร์และชุดเอ็กไซเตอร์
2.1 ส่วนที่อยู่กับที่หรือขดลวดอาร์เมเจอร์ (Armature winding)
ขดลวดอาร์เมเจอร์จะพันอยู่ในร่องของแกนเหล็กแผ่นบางๆ อัดซ้อนกันเป็นเหล็กอ่อนผสมสารซิลิกอน เพื่อลดการสูญเสียเนื่องจากกระแสไหลวน (Eddy
Current)
และลดการสูญเสียเนื่องจากฮีสเตอร์ริชีส (Hysteresis) ขดลวดอาร์เมเจอร์มีอยู่ด้วยกัน 3
ชุด (เฟส A, B, C) แต่ละชุดวางมุมห่างกัน 120
องศาทางไฟฟ้า มีลักษณะการพัน 2
แบบ คือ พันขดลวดแบบชั้นเดียว จำนวนคอยล์ต่อกรุ๊ปจะเท่ากับครึ่งหนึ่งของจำนวนขั้วแม่เหล็ก และการพันขดลวดแบบสองชั้น มีจำนวนคอยล์ต่อกรุ๊ปเท่ากับจำนวนขั้วแม่เหล็ก ในการต่อขดลวดอาร์เมเจอร์เพื่อใช้งาน
สามารถต่อได้ทั้งแบบสตาร์ (Star) และแบบเดลตา
(Delta)
เพื่อจ่ายกระแสไฟฟ้าออกสู่วงจรภายนอก
และมีอยู่ส่วนหนึ่งที่ใช้สำหรับกระตุ้นให้กับตัวเอง
รูปที่
8 ขดลวดอาร์เมเจอร์
2.2 ส่วนที่หมุน หรือขดลวดสนามแม่เหล็กหมุน (Rotating field
winding) ส่วนที่หมุนจะทำหน้าที่สร้างสนามแม่เหล็ก (ขั้ว
N, S)
จากการกระตุ้นด้วยไฟฟ้ากระแสตรงของตัวเอ็กไซเตอร์ (Exciter)
ขดลวดสนามแม่เหล็กที่พันอยู่บนแกนเหล็กของโรเตอร์จะมีลักษณะเป็นขั้วๆ 2 ขั้ว
4 ขั้ว หรือ 24
ขั้วทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการออกแบบให้เครื่องกำเนิดไฟฟ้าทำงานมีความเร็วรอบของการหมุนเท่าใดเช่นเครื่องกำเนิดชนิด
2 ขั้วแม่เหล็ก จะต้องใช้กำลังกลหมุนขับให้มีความเร็วรอบ
3,000 รอบต่อนาที เครื่องกำเนิดชนิด
4
ขั้วแม่เหล็กต้องใช้กำลังกลหมุนขับให้มีความเร็วรอบ 1,500 รอบต่อนาที เป็นต้น
ขดลวดสนามแม่เหล็กหมุนของเครื่องกำเนิดไฟฟ้ามี 2
แบบ คือ แบบขั้วแม่เหล็กเรียบทรงกระบอก (Cylindrical Rotor) และแบบขั้วแม่เหล็กยื่น (Salientpole Rotor)
โรเตอร์แบบขั้วแม่เหล็กเรียบรูปทรงกระบอก
จะใช้กับเครื่องกำหนดที่มีความเร็วรอบสูง 1,500 และ 3,000 รอบต่อนาที ใช้ร่วมกับตัวต้นกำลังที่เป็นกังหันไอน้ำ และกังหันก๊าซ
โรเตอร์แบบนี้จะทำให้เกิดแรงเหวี่ยงหนีศูนย์กลางต่ำ และลดการสูญเสียเนื่องจากแรงต้านจากลม
รูปที่
9 โรเตอร์แบบขั้วแม่เหล็กเรียบ
ส่วนโรเตอร์แบบขั้วแม่เหล็กยื่น
ขดลวดที่พันอยู่บนแกนเหล็กจะมีลักษณะเป็นโพลยื่นออกมาเห็นได้ชัดเจน
เหมาะสำหรับเครื่องกำเนิดที่ถูกขับด้วยความเร็วต่ำ และปานกลาง ใช้ตัวต้นกำลังที่เป็นกังหันน้ำของเขื่อนต่างๆ
และเครื่องยนต์ดีเซลความเร็วต่ำ
รูปที่
10 โรเตอร์แบบขั้วแม่เหล็กยื่น
2.3 ขดลวดแดมเปอร์ (Damper Winding) ขดลวดแดมเปอร์มีลักษณะเป็นแท่งทองแดงฝังอยู่ที่ผิวด้านหน้าของขั้วแม่เหล็กทุกขั้ว
ปลายของแท่งทองแดงจะถูกลัดวงจรเชื่อมต่อถึงกันหมดทุกขั้ว
มีไว้สำหรับแก้การแกว่งหรือการสั่นของโรเตอร์ขณะที่โรเตอร์กำลังหมุนอยู่
ซึ่งการสั่นของโรเตอร์เกิดขึ้นเนื่องจากความเร็วรอบของต้นกำลังไม่สม่ำเสมอ นั่นเอง
รูปที่
11 ขดลวดแดมเปอร์
2.4 เอ็กไซเตอร์
(Exciter)
มีลักษณะเป็นเครื่องกำเนิดไฟฟ้ากระแสตรงขนาดเล็กที่ติดตั้งอยู่ที่ปลายเพลาของเครื่องกำเนิดไฟฟ้ากระแสสลับ
ทำหน้าที่ผลิตและจ่ายไฟฟ้ากระแสตรงป้อนให้กับขดลวดสนามแม่เหล็กของเครื่องกำเนิดไฟฟ้ากระแสสลับ เครื่องกำเนิดขนาดใหญ่จะใช้เอ็กไซเตอร์ชนิดไร้แปรงถ่าน
และแบบมีไพล๊อตรวมอยู่ด้วย เพื่อต้องการลดการบำรุงรักษา เนื่องจากไม่มีแปรงถ่านและสลิปริง
และไม่ให้อำนาจแม่เหล็กตกค้างหมดในขณะที่เครื่องหยุดเดินเป็นเวลานาน
รูปที่
12 เอ็กไซเตอร์แบบไร้แปรงถ่าน
รูปที่
13 เอ็กไซเตอร์แบบไร้แปรงถ่านและมีไพล๊อต
3. การอ่านแผ่นป้ายเครื่องกำเนิดไฟฟ้า แผ่นป้ายที่ติดอยู่ด้านข้างเครื่องกำเนิดไฟฟ้าจะบอกข้อมูลเฉพาะของเครื่องกำเนิดแต่ละเครื่อง
เพื่อให้นำไปใช้งานติดตั้งได้อย่างถูกต้อง
เหมาะสมกับต้นกำลังที่เป็นเครื่องยนต์และกังหันแบบต่างๆ รวมถึงรายละเอียดของการผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อจ่ายออกด้วย
รูปที่
14 แผ่นป้ายเครื่องกำเนิดไฟฟ้า
อักษรย่อ
|
ความหมาย
|
|||
AC GENERATOR
HYDROGEN
INNER-COOLED
|
เครื่องกำเนิดไฟฟ้ากระแสสลับ
ชนิดระบายความร้อนภายในด้วยก๊าซไฮโดรเจน
|
|||
THERMALASTIC
STATOR INSULATION
|
ฉนวนของขดลวดสเตเตอร์เป็นแบบป้องกันความร้อน
ใช้อีป๊อกซี่และไมก้าหุ้มขดลวด
|
|||
WESTINGHOUSE
ELECTRIC
CORPORATION
|
ชื่อบริษัทผู้ผลิต
|
|||
อักษรย่อ
|
ความหมาย
|
|||
H2 PRESS-PSIG
|
ความดันของก๊าซไฮโดรเจนที่บรรจุอยู่ภายในเท่ากับ
30 ปอนด์ ต่อตารางนิ้ว (เกจ)
|
|||
30
|
||||
kW
|
พิกัดกำลังไฟฟ้าจริง (Active
Power)
|
|||
729,500
|
||||
kVA
|
พิกัดกำลังไฟฟ้าปรากฏ (Apparent
Power)
|
|||
700,000
|
||||
AMPERES
|
พิกัดของกระแสใช้งาน
20,468 แอมป์
|
|||
20,468
|
||||
% PF
|
มีค่าตัวประกอบกำลังไฟฟ้า
(Power fector)
|
|||
93.5
|
||||
FIELD AMPERES
|
พิกัดของกระแสสำหรับป้อนขดลวดสนามแม่เหล็ก
4,994 แอมป์
|
|||
4,994
|
||||
EXCIIER VOLTS
|
พิกัดแรงดันกระตุ้นขดลวดสนามแม่เหล็ก
400 โวลต์
|
|||
400
|
||||
°C STATOR RISE
|
อุณหภูมิเพิ่มขึ้นของขดลวดสเตเตอร์ 84°C
|
|||
84
|
||||
°C ROTOR RISE
|
อุณหภูมิเพิ่มขึ้นของขดลวดโรเตอร์ 64°C
|
|||
64
|
||||
°C AMBIENT GAS
|
อุณหภูมิห้อง
(แวดล้อม) ของก๊าซ 48 °C
|
|||
48
|
||||
VOLTS
|
พิกัดแรงดันไฟฟ้า 22,000 โวลต์
|
|||
22,000
|
||||
PHASE
|
CYCLES
|
RPM
|
จ่ายระบบไฟ 3
เฟส ที่ความถี่ 60 Hz และหมุนด้วยความเร็วรอบ
1800
รอบต่อนาที
|
|
3
|
60
|
1,800
|
||
INSTRUCTION BOOK
|
SERIAL
|
หนังสือคู่มือเลขที่ 21201
และหมายเลขเบอร์จากโรงงาน
|
||
21201
|
1-S-7900195
|
|||
MAX.OPERATING
PRESS-PSIG
|
ความดันของก๊าซสูงสุดขณะทำงาน 30 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว (เกจ)
|
|||
30
|
||||
ตารางที่ 1 อักษรย่อและความหมายของแผ่นป้าย
นอกจากนี้
เครื่องกำเนิดไฟฟ้าบางยี่ห้อ บอกข้อมูลรายละเอียดเพิ่มเติมมากกว่านี้ เช่น
มาตรฐานการป้องกัน ชั้นของฉนวน ลักษณะการติดตั้ง น้ำหนัก
ปีที่ผลิต
การใช้น้ำมันหล่อลื่น
ขนาดของตลับลูกปืนหน้า-หลัง
และจำนวนชั่วโมงของการเปลี่ยนน้ำมันหล่อลื่นอีกด้วย
4. การพิจารณาเลือกเครื่องกำเนิดไฟฟ้าใช้งาน
4.1 มาตรฐานการผลิต ควรเป็นเครื่องกำเนิดที่ได้รับการรับรองและผลิตตามมาตรฐานสากล
4.2 ความเร็วรอบของการหมุนจะขึ้นอยู่กับจำนวนขั้วแม่เหล็กของขดลวดสเตเตอร์
และความถี่ของแรงดันไฟฟ้า (ประเทศไทย 50 Hz) เครื่องกำเนิด 2 ขั้ว
ความเร็วรอบจะเป็น 3,000 รอบต่อนาที
และเครื่องกำเนิด 4 ขั้ว ความเร็วรอบจะเป็น 1,500 รอบต่อนาที
4.3 ประเภทของเครื่องยนต์ที่ใช้ในการหมุนขับเครื่องกำเนิดไฟฟ้าใช้น้ำมันดีเซลหรือก๊าซธรรมชาติ
การต่อเพลาระหว่างตัวเครื่องยนต์กับเครื่องกำเนิดใช้ตลับลูกปืนคู่ หรือตลับลูกปืนเดี่ยว
4.4
เป็นเครื่องกำเนิดที่ใช้เป็นแหล่งจ่ายไฟฟ้าสำรอง หรือจ่ายไฟฟ้าแบบต่อเนื่อง หรือเป็นแหล่งจ่ายไฟฟ้าหลัก
4.5 ชนิดของโรเตอร์เป็นแบบขั้วแม่เหล็กยื่น หรือขั้วแม่เหล็กเรียบทรงกระบอก
4.6 ชนิดของตัวกระตุ้นขดลวดสนามแม่เหล็ก
ถ้าเป็นเครื่องกำเนิดขนาดเล็กจะใช้การกระตุ้นด้วยตัวเอง (Self-excitation)
และถ้าเป็นเครื่องกำเนิดขนาดใหญ่จะใช้การกระตุ้นจากภายนอก (Separately-excitation) และได้มีการพัฒนาตัวกระตุ้นชนิดแม่เหล็กถาวร (Pilot exciter) เพื่อรักษาระดับแรงดันไฟฟ้าให้คงที่มากที่สุด
4.7 ชั้นฉนวนของขดลวด
แต่ละชั้นของฉนวนจะมีอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นแตกต่างกัน มีชั้น A, B, F, และ H ยกตัวอย่าง เช่น
ชั้น A เมื่อเครื่องกำเนิดทำงานสำรองไฟฟ้าค่าอุณหภูมิที่กำหนดเพิ่มขึ้น 85 °C.
4.8 การควบคุมแรงดันไฟฟ้า (Auto voltage regulation) ต้องเป็นตามมาตรฐานสากลที่กำหนด
เครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่ดีจะต้องมีอัตราการเปลี่ยนแปลงของแรงดันไฟฟ้าจากสภาวะที่ไม่มีโหลดถึงสภาวะที่มีโหลดเต็มพิกัดมีเปอร์เซ็นต์ต่ำ
การเปลี่ยนแปลงของโหลดเพิ่มขึ้นหรือลดลงจะต้องรักษาให้แรงดันไฟฟ้าคงที่เสมอ
4.9 ความสามารถทำงานเกินพิกัดชั่วครู่ โดยสามารถทนกระแสไฟฟ้าได้ 1.5
เท่า โดยรักษาแรงดันไฟฟ้าให้ใกล้เคียงกับค่ากำหนดมากที่สุด
4.10 มีการทดสอบฉนวนขดลวดด้วยไฟฟ้าแรงสูง
4.11 ความคงทนต่อความเร็วรอบเกินพิกัด ค่ากระแสลัดวงจร และกระแสไฟฟ้าไม่สมดุลทั้ง 3 เฟส
ต้องเป็นตามมาตรฐานที่กำหนด
4.12 มีประสิทธิภาพสูง ปกติจะมีค่าอยู่ระหว่าง 88-93% ซึ่งขึ้นอยู่กับบริษัทผู้ผลิตเครื่องกำเนิดนั้น
จากที่กล่าวมาแล้ว
เครื่องกำเนิดไฟฟ้าซึ่งเป็นเครื่องจักรที่มีความสำคัญอย่างยิ่งส่วนหนึ่งของโรงต้นกำลังที่ใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า เพื่อป้อนเข้าสู่ระบบสายส่งของการไฟฟ้า จ่ายไฟให้กับบ้านพักอาศัย อาคาร
สำนักงาน และโรงงานอุตสาหกรรม
และยังใช้เป็นเครื่องสำรองไฟฟ้าในกรณีที่ไฟฟ้าหลักไม่สามารถจ่ายไฟได้ และใช้กับงานเฉพาะกิจต่างๆ
การพิจารณาเลือกใช้เครื่องกำเนิดไฟฟ้าจึงเป็นหน้าที่ของวิศวกร หรือที่ปรึกษาโรงงานจะต้องเลือกให้ตรงตามวัตถุประสงค์
มีความเหมาะสมกับประเภทของงาน ลักษณะการทำงานและระยะเวลาในการเดินเครื่องทำงานรวมทั้งการวางแผนในการบำรุงรักษาเชิงป้องกันการบำรุงรักษาเชิงปรับปรุงแก้ไข
และการบำรุงรักษาตามสภาพ เพื่อให้เครื่องกำเนิดไฟฟ้า ใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น